วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมาของแคคตัสในเมืองไทย

ไม่มีบันทึกแน่ชัดว่ามีการนำแคคตัสเข้ามาปลูกเลี้ยงในบ้านเราตั้งแต่เมื่อใด เดิมนั้นเรารู้จักแคคตัสแค่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ที่เห็นอยู่ทั่วๆไปเช่น เสมา โบตั๋น และนิยมเรียกต้นไม้กลุ่มนี้ว่า ตะบองเพชรหรือกระบองเพชร เนื่องจากลักษณะของต้นที่เป็นลำสูงยาวคล้ายกระบองที่มีหนามส่องประกายกระทบแวววาวสวยงาม
จากบทความในจุลสารของชมรมกระบองเพชรแห่งประเทศไทยโดย “กระท่อมลุงจรณ์” กล่าวไว้ว่า “ก่อนปีพ.ศ.2500 แคคตัสได้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยผู้รักต้นไม้สกุล ‘สมบัติศิริ’ โดยนำมาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนฝูงด้วยความประทับในความประงดงามประหลาดตา จึงเริ่มมีการสั่งเข้ามาปลูกเพื่อสะสมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณสมพงษ์ เล็กอารีย์ คุณอารีย์ นาควัชระ และคุณบุษบง มุ่งการดี”
ความนิยมแคคตัสเริ่มแพร่ขยายเป็นวงกว้างทีละเล็กทีละน้อย จนเกิดร้าน ‘471’ ของคุณวาส สังข์สุวรรณ ขึ้นที่สนามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นร้านขายแคคตัสโดยตรงเป็นร้านแรกของประเทศ จากนั้นก็มีร้าน ‘ลุงจรณ์’ ตั้งอยู่ริมคลองหลอดเกิดขึ้นตามมาเกิดกลุ่มนักเล่นและนักสะสมแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้ซึ่งกันและกัน โดยมีคุณขจี วสุธาร เป็นนักเล่นคนสำคัญในยุคสมัยนั้น
ประมาณปีพ.ศ. 2519 มีการสั่งไม้ต่อยอดสีแดง ยิมโนด่าง และต้นจากการเพาะเมล็ดชนิดอื่นๆ เข้ามาจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้นักเล่นตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องการต่อยอดแคคตัสมากขึ้น เริ่มมีการเพาะเมล็ดขยายพันธุ์เองภายในประเทศ เกิดการพัฒนาและผลิตต้นออกสู่ตลาดได้เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มนักเล่น ในขณะที่ร้านขายแคคตัสใหญ่ๆ ที่น่าสนใจก็เกิดขึ้นตามมาอีกหลายร้าน เช่น ร้านพิศพร้อม ร้านยุทธนาแคคตัส ร้านลินจง เป็นต้น
แคคตัสยังคงได้รับความนิยมเรื่อยมา มีการสร้าง Geodesic Dome จัดเป็นสวนแคคตัสขึ้นภายในสวนหลวง ร.9 มีตำราแคคตัสภาษาไทยเล่มแรกโดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน มีกลุ่มผู้เลี้ยงและผู้จำหน่ายขยายวงกว้างครอบคลุมไปกว่า 50 จังหวัดของประเทศ รวมทั้งมีการพัฒนายกระดับคุณภาพ เกิดพันธุ์ลูกผสมใหม่ๆขึ้นเสมอ จนกล่าวได้ว่าแคคตัสเป็นต้นไม้ที่ได้รับความนิยมมาจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: