วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

โรคและแมลงของแคคตัส

โรคที่พบบ่อยๆ
โดยปกติแล้วแคคตัสจะไม่ค่อยมีโรครบกวนมากนัก จะมีก็แต่โรคที่เป็นสุดยอดปัญหาของแคคตัสคือ โรครา หรือบางทีก็เรียกกันว่า โรคเน่า ที่เกิดจากการเอาใจใส่ดูแลแคคตัสมากเกินไป
สาเหตุ - รดน้ำมากเกินไป
- อากาศไม่ถ่ายเท
- วัสดุปลูกแน่นทึบ ไม่ระบายน้ำ
อาการ - ต้นมีรอยแผลถลอกหรือช้ำเน่า อาจเป็นจุดสีน้ำตาลหากไม่รีบตัดทิ้งหรือรักษา จุดจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนต้นเน่าตายในที่สุด
การแก้ไข - ตัดส่วนที่เน่าทิ้งไป โดยตัดให้เหนือแผลประมาณ 1-2 นิ้วใช้คอปเปอร์ซัลเฟตหรือยาฆ่าเชื้อราทารอยตัดและบริเวณใกล้เคียงให้ทั่ว
วิธีการป้องกัน - รดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะพอดี
- ตรวจดูวัสดุปลูกว่าระบายน้ำดีหรือไม่
ข้อแนะนำ
* อาการโคนเน่าจะรักษาง่ายกว่าอาการยอดเน่า
*โรครามักระบาดในช่วงฤดูฝนที่อากาศค่อนข้างชื้น ควรยกกระถางแคคตัสเข้าในที่ไม่โดนน้ำฝนหรือทำพลาสติกกันฝนให้ต้นเพราะน้ำที่ตกค้างตามต้นในช่วงกลางคืน จะทำให้สปอร์ของเชื้อราเติบโตอย่างรวดเร็ว

ปัญหาจากแมลง
เพลี้ยแป้ง (Mealy Bug)
เป็นแมลงขนาดเล็กศัตรูตัวสำคัญของแคคตัส ลำตัวอ่อนนุ่มปกคลุมด้วยผงสีขาวและไขมัน มักซ่อนอยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้ยากเช่น รอบๆ ฐานตุ่มหนาม ซอกหนาม โคนต้น และที่ราก
อาการ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ต้นหงิกงอเหี่ยวแห้ง ชะงักการเจริญเติบโตและอาจตายได้ในที่สุด
วิธีป้องกันกำจัด เก็บทิ้ง ใช้แอลกอฮอล์เช็ดที่ผิวต้น หากระบาดมากให้ฉีดพ่นด้วยสารประเภทดูดซึมอย่างมาลาไธออนหรือไพรีทรอยด์ทุก 7-10 วัน
เพลี้ยแป้งที่ราก (Root Medly Bug)
เป็นแมลงที่อันตราย ลักษณะคล้ายเพลี้ยแป้งมักอาศัยอยู่ที่ราก
อาการ กัดทำลายระบบราก ต้นจะเหี่ยวและตายในที่สุด
วิธีป้องกันจำกัด ใช้วิธีเดียวกับเพลี้ยแป้ง
เพลี้ยหอย (Scale Insect)
เป็นแมลงที่มีรูปร่างกลมคล้ายหัวเข็มหมุด ขับสารเคมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีน้ำตาลออกมาเป็นเปลือกแข็งคล้ายเปลือกหอยหุ้มตัวไว้ มักอาศัยอยู่บริเวณโคนหนาม
อาการ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
วิธีการป้องกัน แคะออกด้วยไม้จิ้มฟัน หากระบาดมากให้ฉีดพ่นด้วยสารประเภทดูดซึมอย่างมาลาไธออนหรือนิโคติลซัลเฟต
เพลี้ยอ่อน (Aphids)
ลำต้นมีสีเขียว น้ำตาลปนแดงหรือดำ มักเกาะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนอ่อนๆ ของต้นหรือที่บริเวณดอก ต้นจะแคระแกร็น เจริญเติบโตผิดลักษณะ
เพลี้ยไฟ (Thrips)
เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก เคลื่อนที่ได้เร็ว
อาการ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ผิวต้นซีดเป็นจุดสีขาวหรือสีเหลือง
วิธีป้องกันจำกัด ฉีดพ่นด้วยสารประเภทดูดซึมอย่างนิโคตินซัลเฟต
ไรแดง (Red Spider Mites)
ไรแดงเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยจะเห็นเป็นจุกขนาดเล็กสีแดงหรือสีน้ำตาลแห้ง
อาการ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต
วิธีป้องกันกำจัด ฉีดน้ำไล่หรือฉีดพ่นด้วยสารประเภทดูดซึม เช่น มาลาไธออน โดยฉีดพ่นทุกๆ 10 วัน
ทากและหอยทาก (Snails&Slugs)
เป็นศัตรูที่ก่อปัญหามากเช่นกัน พวกนี้จะคอยกัดกินต้นไม้
อาการ กัดกินต้น
วิธีป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีที่เป็นผงโรยไล่ทาก หากมีไม่มากก็ใช้มือจับออกไป
ข้อแนะนำ
* การใช้ยาฆ่าแมลงนั้นจะใช้ต่อเมื่อพบว่าต้นถูกแมลงรบกวนและจะหยุดใช้ยาต่อเมื่อมั่นใจว่าแมลงเหล่านั้นหมดไปจากต้น
* เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายสารเหนียวคล้ายน้ำหวานที่มดชอบ เพลี้ยจะเกาะอาศัยมดแพร่ระบาดไปยังส่วนต่างอื่นๆ หรือต้นอื่นๆ
* เพลี้ยอ่อนจะขับถ่ายสารเหนียวคล้ายกับเพลี้ยแป้ง นอกจากจะเป็นอาหารของมดแล้วยังเป็นอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของราดำ (Sooty mold) ด้วย ราดำจะเกาะตามผิวต้นทำให้ดูสกปรกบังส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้ต้นสังเคราะห์แสงได้น้อยลง
* ไรแดงจะระบาดมากในช่วงที่มีอากาศร้อน
* หากสังเกตพบว่ามีรอยสีเงินตามพื้น แสดงว่าหอยทากกำลังจู่โจมแคคตัสอยู่ โดยเฉพาะต้นที่อยู่ในที่ร่มที่มีความชื้นสูง

ไม่มีความคิดเห็น: