วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

การดูแลแคคตัส(ต่อ)

ปุ๋ย
ถึงแม้ว่าในวัสดุที่ใช้ปลูกแคคตัสจะมีธาตุอาหารจากวัสดุที่ใส่ผสมเช่น ปุ๋ยคอกหรือใบไม้ผุแล้วก็ตามแต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้น ซึ่งควรให้ปุ๋ยแก่ต้นเพิ่มบ้างโดยเลือกปุ๋ยสูตรที่มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) สูงกว่าไนโตรเจน (N)
ธาตุฟอสฟอรัสจะช่วยบำรุงให้ต้นออกดอกติดเมล็ดได้ดี
ธาตุโพแทสเซียมช่วยเพิ่มความต้านทานให้แก่ต้น และช่วยให้ต้นดูดซึมน้ำและอาหารได้ดีขึ้น
ธาตุไนโตรเจนนั้นช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต
สิ่งที่ต้องระวัง คือ อย่าให้แคคตัสได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไปเพราะจะทำให้ต้นโตเร็ว เซลล์ขยายตัวมากแต่ผนังเซลล์จะบางอาจทำให้ต้นปริแตก หรือที่เรียกว่าต้นระเบิดอีกทั้งต้นจะอ่อนแอเป็นโรคได้ง่าย
วิธีการให้ปุ๋ย
ควรให้ปุ๋ยแก่แคคตัสทุก 2 สัปดาห์โดยใช้ในอัตราที่เจือจางกว่าที่ระบุในฉลากครึ่งหนึ่ง เนื่องจากแคคตัสปลูกอยู่ในกระถางขนาดเล็กที่มีวัสดุปลูกอยู่เพียงน้อยนิด วัสดุปลูกไม่สามารถเก็บสารอาหารจากปุ๋ยได้มากนักต้นเองก็ไม่ได้ดูดเอาสารอาหารไปใช้มากสักเท่าไหร่ ให้ปุ๋ยบ่อยๆก็เป็นการสิ้นเปลืองและถ้าให้ปุ๋ยในอัตราที่เข้มข้นเหมือนการให้ปุ๋ยต้นไม้อื่นทั่วไปก็จะเป็นอันตรายต่อแคคตัสได้ นอกจากการให้ปุ๋ยกับต้นแล้วก็ควรจะฉีดยากันราให้ต้นด้วยอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนควรผสมยากันราในน้ำทุกครั้งที่ใช้รด
ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับแคคตัส
ปุ๋ยออสโมโคทสูตรเร่งดอก โรยรอบกระถาง 3-5 เม็ดทุก 3 เดือน
ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำของกล้วยไม้สูตรเร่งดอก ผสมในน้ำปริมาณเจือจางกว่าที่ฉลากกำหนดครึ่งหนึ่ง รดแทนน้ำทุก 2 สัปดาห์
ข้อแนะนำ
* แคคตัสที่ได้รับปุ๋ยมากเกินไป ต้นจะเจริญเติบโตผิดปกติ มีลักษณะที่เรียกว่าหงอน (Cristata) ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งที่ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมเก็บสะสมกันไว้
* สามารถผสมปุ๋ยลงในน้ำที่ใช้รดได้ทุกครั้ง เพียงแต่ต้องผสมในอัตราที่เจือจางมากกว่าการให้โดยปกติ (ลดลงจากปกติ 70%)
* อาจจะผสมยากันราและยาป้องกันแมลงร่วมกับปุ๋ยที่ใช้รดทุก 2 สัปดาห์ด้วยก็ได้
* เราสามารถใช้ปุ๋ยชีวภาพกับแคคตัสได้ มีข้อดีที่ต้นจะเขียวและมีระบบรากดีแต่มีข้อเสียที่มีกลิ่นเหม็น มีธาตุอาหารไม่ครบและมักมีมดมาขึ้นเพราะมีส่วนผสมของกากน้ำตาล

ไม่มีความคิดเห็น: